National Health Security Office (NHSO) District 4, Saraburi
  • แสดงผลพื้นหลังสีดำตัวหนังสือสีขาว 
  • แสดงผลสีแบบปกติ 
  • แสดงผลพื้นหลังสีดำตัวหนังสือสีเหลือง 
  • larger 
  • default 
  • smaller 
  • เปลี่ยนการแสดงผล

    เปลี่ยนภาษา

ประชาสัมพันธ์

สปสช.จับมือโรงพยาบาลและร้านยาลดความแออัด

 สปสช.จับมือโรงพยาบาลและร้านยาลดความแออัด

ชวนผู้ป่วยเบาหวาน ความดันสิทธิบัตรทอง สมัครใจรับยาได้ที่ร้านยาใกล้บ้าน
4 โรงพยาบาลใหญ่ในสระบุรี 22 ร้านยาในเขต 4 สระบุรี เริ่ม 1 ต.ค.62นี้

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมลงนามความร่วมมือตามนโยบาย รมว.สธ. ลดความแออัด ลดระยะเวลาการรอคอย ดึงร้านยาเป็นกลไกขับเคลื่อน ผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน หลังพบแพทย์กลับบ้าน รับยาได้ที่ร้านยาใกล้บ้าน สปสช.จับมือสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (แห่งประเทศไทย) โรงพยาบาลรัฐ ร้านขายยา หนุนระบบลดแออัด มั่นใจผู้ป่วยสะดวกและได้รับยาที่มีคุณภาพ

วันนี้ 30 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุม 5 ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลสระบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี (สสจ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (แห่งประเทศไทย) โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลพระพุทธบาท โรงพยาบาลบ้านหมอ และโรงพยาบาลเสาไห้ พร้อมด้วยร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ 22 ร้าน ร่วมในพิธีบันทึกความร่วมมือ โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยใช้กลไกร้านยา โดยมี นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนาม นายแพทย์สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายสมภพ สมิตะสิริ รอง ผวจ.สระบุรี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) นายแพทย์รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรีนายแพทย์อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี และคณะ ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้

นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการ รมว.สธ. กล่าวว่าตามที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มีนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยใช้กลไกร้านขายยานั้น โครงการนี้เป็นโครงการที่ท่านได้ดำริขึ้นจากการที่ลงพื้นที่พบพี่น้องประชาชน เมื่อ 2-3 ปีก่อนเลือกตั้งในหลายจังหวัด เห็นถึงความเดือนร้อนของประชาชนในการเดินทางมาโรงพยาบาล จึงมีเป้าประสงค์แรกเรื่องการลดความแออัดในโรงพยาบาล ในวันนี้วิธีการแรกที่ตัดสินใจเลือกคือการรับยาใกล้ที่บ้านในเวลาที่ประชาชนสะดวก โดยร้านขายยาแผนปัจจุบันเพื่อลดความแออัด ซึ่งเพียงเป็นหนึ่งในอีกหลายๆวิธีการ เรายังมีอีกหลายโครงการที่จะทดลองทำภายใต้โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล วันนี้ก็เช่นกันถือว่าเป็นการทดลอง หากเราไม่เริ่มจะไม่สำเร็จ ทุกๆโครงการต้องมีจุดเริ่มต้นก่อน ส่วนปัญหาอุปสรรค์นั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มาหาแนวทางแก้ไข ท้ายที่สุดต้องทำให้สำเร็จให้ได้ 2.โครงการเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลคือการตรวจผลแล็บเทคนิคทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งของการที่ประชาชนต้องเดินทางมาเจาะเลือดและต้องรอผลตรวจจากห้องปฎิบัติการทั้งวัน จึงมีความคิดว่าอาจจะให้ไปตรวจที่ รพช.ก่อน จากนั้นส่งผลแล็บมาให้ รพศ. วินิจฉัยและรับยาได้ที่ร้านขายยา วันนี้เป็นที่มาของการนำร่องรับยาใน 4 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหอบหืดและจิตเวช


อีกหนึ่งโครงการที่อยู่ในขั้นตอนที่จะทดลองทำเพื่อลดขั้นตอนการปฐมพยาบาลในภาวะฉุกเฉิน คือ 3.ระบบการแพททย์ฉุกเฉิน โดยจะนำเทคนิคการควบคุมรถบรรทุกขนส่งของ SCG มาประยุกต์ในการควบคุมรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน (EMS) และ 4.โครงการเทเลเมดิซีน (Telemedicine) เทคโนโลยีเสริมการรักษา หรือหมอประจำครอบครัว ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วขึ้น ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีความพัฒนาอย่างค่อนข้างมาก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว WHO ประกาศให้ระบบสาธารณสุขไทยดีในอันดับที่ 6 ของโลก ขณะประกาศผลนั้น รมว.สธ.ประเทศไทยนั่งอยู่กับ รมว.สธ.ประเทศฝรั่งเศษ และได้ชื่นชมระบบสาธารณสุขของประเทศไทย แม้หลายคนจะมองว่าเราใช้เม็ดเงินในการดูแลคนไทยจำนวนมากโดยผ่านระบบหลัก ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง แต่เราเล็งเห็นแล้วว่าสิ่งนี้จะช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชนได้ เมื่อประชาชนมีสุขภาพดีชีวาที่ดี เศรษฐกิจก็จะดีตาม เนื่องจากเราก็จะมีบุคลากรที่สามารถทำงานเพิ่มรายได้ให้กับประเทศชาติ

ดังนั้นจึงได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากในการดูแลพื่น้องประชาชนด้านสุขภาพ ขณะที่ รพ.สระบุรี ยังมีอีกโครงการที่จะลดความแออัดโดยมีเป้าประสงค์จะสร้างอาคาร OPD ใหม่อีกแห่งเพื่อบริการพี่น้องประชาชน และจะเป็น OPD ที่ทันสมัยที่สุดอีกแห่ง โดยจะเร่งบรรจุเสนองบประมาณในปี 64 และขอบคุณ กระทรวงสาธารณสุข สปสช. บุคลากร สธ.ทุกท่านที่ร่วมกันดำเนินงานโครงการดังกล่าว เลขานุการ รมว.สธ. กล่าว

สำหรับโครงการนำร่องในจังหวัดสระบุรี สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี โรงพยาบาลสระบุรี และสมาคม/ชมรมร้านขายยาในจังหวัดสระบุรี และสปสช.เขต 4 สระบุรี มีความเห็นร่วมกัน ที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว จึงได้ตกลงทำบันทึกความร่วมมือโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยใช้กลไกร้านยาขึ้น ให้บริการใน 2 กลุ่มโรคได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน โดยโรงพยาบาลจะเป็นผู้ควบคุมกำกับร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ และจัดส่งยาที่ผู้ป่วยต้องได้รับประจำ ไว้ให้ที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ

สำหรับโรงพยาบาลที่มีความพร้อมเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ได้แก่ โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลพระพุทธบาท โรงพยาบาลบ้านหมอและโรงพยาบาลเสาไห้ มีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการรวมจำนวน 22 ร้าน ประกอบด้วย
1.ร้านยาในเครือข่ายของโรงพยาบาลสระบุรี จำนวน 15 ร้านได้แก่ ร้านยา แฟมิลี่ ลีลาวดีเภสัช บู๊ทส์ - โรบินสันสระบุรี กิ่งเภสัช คลังยาแสงทองเภสัช ชนะธรรมเภสัช ร้านบ้านยาและสุขภาพ ไทยรุ่งเรืองเภสัช ริมคลองหนองแค ไทย รุงเรืองเภสัช ตลาดหนองปลาหมอ 7R Dispensary จ.ชุมชนเภสัช ปันยา ยาเภสัชกร ร้านจึงเจริญเภสัช วังยาชะอม
2. ร้านยาในเครือข่ายของโรงพยาบาลพระพุทธบาท จำนวน 4 ร้าน ได้แก่ นานายา ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนพล เมด แอนด์ แคร์ แสนเจริญเภสัช รุ่งแสงเภสัช
3. ร้านยาในเครือข่ายของโรงพยาบาลบ้านหมอ จำนวน 2 ร้าน ได้แก่ ณัฐณิชาเภสัช ประภัสสรเภสัช
4.ร้านยาในเครือข่ายของโรงพยาบาลเสาไห้ จำนวน 1 ร้าน ได้แก่ ประวิทย์เภสัช

ทั้งนี้ ร้านยาที่เข่ารวมโครงการจะเป็นหน่วยร่วมให้บริการ ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของใบสั่งยา จัดหรือจ่ายยาตามมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรม โดยร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นร้านขายยา ขย.1 ที่มีเภสัชกรประจำอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เนื่องจากจะต้องมีการแนะนำผู้ป่วยในการใช้ยา และยาบางชนิดเป็นยาอันตราย รวมไปถึงการติดตามการใช้ยา โดยร้านขายยาจะต้องจ่ายยาให้ผู้ป่วยตามใบสั่งแพทย์ โดยอาจจะมีการกำหนดจากแพทย์มาว่า ให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาทุก ๆ 1 เดือน โดยโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการจะดำเนินการจัดยารายบุคคลส่งให้ร้านยา พร้อมให้เภสัชกรช่วยประเมินความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย (Compliance Audit) เช่น วัดความดัน หรือ ประเมินระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยในกลุ่มเบาหวาน ประเมินหลอดลมของผู้ป่วยโรคหอบหืด (peak flow meter) หรือหากพบผู้ป่วยมีความเสี่ยงให้ส่งตัวมาโรงพยาบาล พร้อมกับรายงานข้อมูลการเข้ารับยาของผู้ป่วยตามระบบของโรงพยาบาล โดยเน้นย้ำว่า ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบาย และไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ เพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิบัตรทอง สอบถามข้อมูลร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่สายด่วน สปสช.โทร 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เวปไซด์ สปสช. www.nhso.go.th

//// 30 กันยายน 2562/////////สุนันท์ งานประชาสัมพันธ์ สปสช.เขต 4 สระบุรี ข่าว