National Health Security Office (NHSO) District 4, Saraburi
  • แสดงผลพื้นหลังสีดำตัวหนังสือสีขาว 
  • แสดงผลสีแบบปกติ 
  • แสดงผลพื้นหลังสีดำตัวหนังสือสีเหลือง 
  • larger 
  • default 
  • smaller 
  • เปลี่ยนการแสดงผล

    เปลี่ยนภาษา

ประชาสัมพันธ์

อนุกรรมการควบคุมคุณภาพฯ สปสช.เขต 4 สระบุรี เสนอแนวทางป้องกันการเกิดซ้ำ กรณีติดเชื้อโควิดขณะนอนรักษาโรคอื่นในหน่วยบริการ และลดข้อร้องเรียนกรณีผู้มีสิทธิบัตรทองถูกเรียกเก็บเงินส่วนเกิน

 

บอร์ด อคม. สปสช.เขต 4 สระบุรี เสนอแนวทางป้องกันการเกิดซ้ำ กรณีจ่ายยาล่าช้าในผู้ป่วยติดเชื้อโควิดขณะนอนรักษาตัวโรคอื่นในหน่วยบริการ และให้จัดทำมาตรการการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจสิทธิประโยชน์และการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุข หวังลดข้อร้องเรียนกรณีผู้มีสิทธิบัตรทองถูกเรียกเก็บเงินส่วนเกิน
.
วันที่ 23 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี จัดประชุมคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี พญ.หทัยรัตน์ อัจจิมานนท์ ประธาน อคม.เขต 4 สระบุรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 4 สระบุรี นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. นางสุวรรณี ศรีปราชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่ม และคณะอนุกรรมการเข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุมในรูปแบบการประชุม onsite และ zoom ได้รับเกียรติจาก พญ.นุชรินทร์ อักษรดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช และคณะให้การต้อนรับ
.
ที่ประชุมวาระสำคัญเพื่อพิจารณาได้แก่ การป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ ประเด็นการรักษาไม่เป็นไปตามเวชปฏิบัติกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID19) รายงานข้อมูลเรื่องร้องเรียนกรณีประชาชนถูกเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินเกินอัตราที่กำหนด ตามมาตรา 59 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเขต 4 สระบุรี และวาระเพื่อทราบ เรื่องการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายตาม ม.41 และข้อมูลเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ตามมาตรา 57,59
.
นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 4 สระบุรี เปิดเผยข้อมูลจากรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาการถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่าย extra billing ในพื้นที่เขต 4 (ตามมาตรา 59) ปี 2566 มีจำนวน 146 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 26 ขณะที่จังหวัดที่มีเรื่องร้องเรียนกรณีถูกเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บใน 5 ปีที่ผ่านมา(2561-2566) พบว่าจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานีมีเรื่องร้องเรียนมากที่สุด รวมจำนวน 575 เรื่อง ส่วนใหญ่เกิดในหน่วยบริการรัฐนอกสังกัด สธ. มากที่สุด ส่วน 10 อันดับประเภทบริการที่เรียกเก็บเงิน ได้แก่ 1. กรณีรักษาโรคทั่วไป 2. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3. ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) 4. กรณีประสบอุบัติเหตุ 5. กรณีสิทธิผู้พิการ 6.กรณีสิทธิว่าง 7.กองทุนไต 8. กองทุนพัฒนาระบบบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน 9.เก็บส่วนเกิน และ10.กรณีสิทธิเด็กแรกเกิด และพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าหน้าที่เข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องสิทธิประโยชน์และเก็บส่วนเกินจากที่เบิกได้
.
พญ.หทัยรัตน์ อัจจิมานนท์ ประธาน อคม.เขต 4 สระบุรี จึงมีมติเห็นชอบต่อที่ประชุมอนุกรรมการฯให้จัดทำแผนแนวทางการแก้ไขปัญหา การเฝ้าระวังและกำกับติดตาม เพื่อลดข้อร้องเรียนกรณีถูกเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ พร้อมทั้งให้มีการลงพื้นที่สื่อสารสร้างความเข้าใจในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 8 จว. โดยเฉพาะประเด็นการบริหารจัดการยาให้ทันเวลาต่อการรักษากลุ่มผู้ป่วย กรณีโรคไวรัสโคโรน่า และหนุนเสริมการทำงานของหน่วยบริการ
.
ทั้งนี้ที่ประชุม อคม. ได้รับทราบการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหาย มาตรา 41 ปี 2566 เขต 4 สระบุรี จำนวน 16.7 ล้านบาท จากจำนวนผู้ยื่นคำร้อง 107 ราย ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 11 ขณะที่สาขาที่เกิดความเสียหายมากที่สุดคือสาขาอายุรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในที่นอนรักษาอยู่ใน รพ. และเกิดติดเชื้อไวรัสโคโรน่าเพิ่มระหว่างการรักษา นอกจากนี้ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบรายงานข้อมูลมีเรื่องร้องเรียน ตามมาตรา 57, 59 มากที่สุดในจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี ในประเด็นไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร 116 เรื่อง เช่น การให้ข้อมูลสื่อสารไม่ชัดเจนของผู้ให้บริการ การไม่อำนวยความสะดวก การรอคิวตรวจนาน เป็นต้น
.
โดยที่ประชุมยังได้รับทราบการดำเนินงานหน่วยนวตกรรมบริการ ร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพของจังหวัดสิงห์บุรีได้แก่ ร้านเจพี ฟาร์มาซี ขึ้นทะเบียนประเภท common illness ให้บริการ 16 กลุ่มอาการ และปี 2566 มีให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทองแล้ว จำนวน 6,326 ครั้ง ซึ่งมีความพร้อมรองรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวไปได้ทุกที่